เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาที่เราเคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับผลการวิจัย โครงการไอเพร็ก ที่ศึกษาในกลุ่มชายรักชาย พบว่าการรับประทานยาต้านไวรัสในคนที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวีนั้น สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 43% ทำให้งานวิจัยดังข่าวได้รับการกล่าวขวัญอย่างมาก โดยเฉพาะในต่างประเทศ และมีอีกหลายงานวิจัยที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับ PrEP หรือการให้คนที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวี ทานยาต้านไวรัสทุกวันเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งก็มีงานวิจัยที่ได้ผลและไม่ได้ผลออกมา
อย่างไรก็ตามองค์การอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกาได้อนุมัติให้ใช้ยาต้านไวรัสตัวหนึ่ง มีชื่อทางการค้าว่า “ยาทรูวาด้า” ให้เป็นวิธีหนึ่งในการป้องกันเอชไอวี แต่การทานยานี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ และควรใช้ร่วมกับวิธีอื่นๆด้วยเช่น ใช้ถุงยางอนามัย ตรวจเอชไอวีเป็นประจำ หรือการตรวจรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นต้น สำหรับประเทศไทยในปัจจุบันยังไม่มีการอนุมัติให้นำยาทรูวาด้ามาใช้เพื่อการป้องกัน แต่ใช้เพียงแค่การรักษา
จึงจะขอนำเสนอบทความหนึ่งเกี่ยวกับประสบการณ์จากการรับประทานยาทรูวาด้าเพื่อการป้องกันเอชไอวี โดยบทความนี้อยู่ในเวปไซด์ของเครือข่าย Test Positive awareness ซึ่งผู้เขียนชื่อ อลัน จอห์นสัน โดยเขาเป็นคนทำงานอยู่ในวงการสาธารณสุข ที่ได้พูดถึงประสบการณ์ของตนเองเมื่อได้ทานยาทรูวาด้าเป็นระยะเวลาหนึ่งเพื่อป้องกันตัวเองที่น่าสนใจดังนี้
การตัดสินใจเริ่มรับประทานยา
การตัดสินใจที่จะเริ่มทานยาดังกล่าว เขาได้ถามตัวเองมากมายหลายคำถาม เช่นตัวเขาเสี่ยงที่จะติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่? เขาจะได้รับผลข้างเคียงจากการทานยานี้มั้ย? เขาจะทำอย่างไรต่อความกลัวและการตีตราที่อาจเกิดขึ้นเมื่อไปซื้อยา และหากมีคนเห็นเขาทานยา หรือเห็นฉลากยาตกที่ในอพาร์ทเมนท์จะเป็นอย่างไร คนอื่นจะคิดว่าเขาเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่?
หลังจากที่ตัวเขาเองได้รวบรวมคำถามทั้งหมดที่สงสัยแล้ว เขาจึงวิเคราะห์ถึงความคุ้มค่าหากเขาจะทานยาเพื่อป้องกัน และได้ไปปรึกษาผู้ดูแลสุขภาพ (หรือแพทย์ประจำตัว) เขาได้พูดคุยเกี่ยวกับทัศนคติเรื่องการมีคู่ของเขา ที่อาจไม่ได้เป็นความสัมพันธ์แบบคู่นอนคนเดียว หรือความสัมพันธ์แบบไม่ได้ผูกขาดกับคนใดคนหนึ่ง และตัวเขาเองคิดว่าเขาไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัยกับคู่นอนประจำทุกครั้ง เนื่องจากคบกันมานาน หลังจากได้ปรึกษากับเจ้าหน้าที่สุขภาพแล้ว เขาจึงตัดสินใจที่จะเริ่มทานยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันเอชไอวีหรือวิธีเพร็พ (PrEP) โดยก่อนที่จะเริ่มทานยา เขาได้ตรวจเลือดที่รวมถึงการตรวจเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยดี แพทย์จึงสั่งยาให้เขาเริ่มทานยาได้
ประสบการณ์หลังจากการรับประทานยา
จนถึงปัจจุบัน เขาได้ทานยามาแล้วเป็นเวลา 10 เดือน เขาไม่มีอาการจากผลข้างเคียงของยาแบบรุนแรง มีแค่ในช่วง 2-3 วันแรกหลังจากทานยา เขารู้สึกนอนไม่ค่อยหลับ แต่หลังจากนั้นก็สามารถหลับได้ ปัจจุบันได้ทานยามาเป็นเวลาเกือบปีแล้ว มันเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เริ่มทานยามาจนถึงปัจจุบัน เขาไม่ลืมที่จะทานยาเลย มีเพียงครั้งหนึ่งที่ทานช้าไป เพราะออกไปทำธุระเป็นเวลาหลายชั่วโมงโดยไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า จึงทำให้การทานยาครั้งนั้นช้าไป
เขาตั้งใจที่จะรับประทานยาอย่างเคร่งครัด เพราะเขารู้ว่าการทานยาต้านไวรัสก่อนการสัมผัสเชื้อจะใช้ได้ผล ก็ต่อเมื่อต้องทานยาทุกวัน เขาจึงพกยาติดตัวตลอดเวลา 2-3เม็ดและจะใช้ไอโฟนเตือนเมื่อถึงเวลาทานยา เขาเชื่อว่าความมีวินัยในการทานยาของเขาจะช่วยป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะมี และมันก็เป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจที่จะมีเพศสัมพันธ์ ตั้งแต่เริ่มการรับประทานยา เขายังได้พูดคุยเกี่ยวกับการทานยานี้กับคู่นอน และพบว่าทำให้การพูดคุยเกี่ยวกับสถานะเอชไอวีเป็นสิ่งที่ง่ายขึ้น และสะดวกใจที่จะพูดคุยอย่างเปิดเผยกับคู่นอนในเรื่องเทคนิคการป้องกันเอชไอวีเมื่อเริ่มมีความสัมพันธ์กัน และบางครั้งก็พูดเกี่ยวกับซีดีสี่และปริมาณไวรัสของพวกเขาด้วย
อนาคตต่อไป
ก่อนที่เขาจะเขียนบทความนี้ เขาได้แบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับ PrEP กับเพื่อนสนิทและคู่นอน ผลตอบรับที่ได้เป็นสิ่งที่ดี มันช่วยไม่ให้เกิดการตีตรา ความกลัวหรือการปฏิเสธจากสังคม อย่างไรก็ตาม เขาก็ไม่ได้หมายความว่า การใช้ PrEP นี้สำหรับทุกคน แต่ PrEP เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี และจำเป็นที่ต้องทำงานร่วมกันกับถุงยางอนามัย การลดความเสี่ยง และการป้องกันตนเองเป็นต้น และตัวเขาเองก็คิดว่าจะใช้ PrEP นี้ไม่นาน โดยอีกสัก 2- 3ปีต่อไป เขาคิดว่าตนเองจะสร้างครอบครัวและมีความสัมพันธ์แบบคู่คนเดียว และในภาพใหญ่ที่หวังไว้คือเอชไอวีสามารถรักษาได้ และคนรุ่นใหม่จะไม่ติดเชื้อเอชไอวี
บทความนี้เป็นการแบ่งปันประสบการณ์ส่วนหนึ่งจากการรับประทานยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันการติดเชื้อหรือ PrEP โดยผู้เขียนอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้นำวิธีการดังกล่าวมาสู่การปฏิบัติ เนื่องจากยังต้องหาแนวทางและการกำกับดูแลในระดับนโยบาย ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ Safe Sex ยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญและควรปฏิบัติอย่างยิ่งเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ส่วนวิธีการใหม่ๆที่ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัยนั้นเราคงต้องติดตามกันต่อไปว่าจะมีวิธีการใดมาเป็นตัวช่วยเพื่อให้เราและคนรุ่นหลังได้ปลอดภัยจากเอชไอวี