หัวหน้าหน่วยพรีเวนชั่น ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ แนะปรับภาพลักษณ์ของการจัดบริการยาป้องกันการสัมผัสเชื้อเอชไอวี (เพร็พ) เป็นผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพและทำให้ผู้ใช้รู้สึกภูมิใจที่ได้ดูแลตัวเองเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้กว้างขึ้น ชี้หากบอกว่าเพร็พมีสำหรับคนที่มีความเสี่ยงสูงจะเข้าถึงคนจำนวนน้อยเพราะมีไม่กี่คนที่จะยอมรับว่าตัวเองเป็นกลุ่มเสี่ยง พร้อมชูโมเดล “เพร็พพระองค์โสมฯ” ให้องค์กรชุมชนเป็นผู้ออกแบบบริการด้วยตัวเองเพื่อให้สอดคล้องความต้องการและดึงดูดกลุ่มเป้าหมายมารับบริการได้เป็นอย่างดี
พญ.นิตยา ภานุภาค
พญ.นิตยา ภานุภาค หัวหน้าหน่วยพรีเวนชั่น ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กล่าวบรรยายในหัวข้อ “สถานการณ์การใช้เพร็พในประเทศไทยรวมทั้งโครงการเพร็พพระองค์โสมฯ” ในงานสัมมนาติดตามความคืบหน้าของการให้บริการเพร็พในประเทศไทยเพื่อเทิดพระเกียรติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ เนื่องในโอกาสที่ได้ทรงรับการถวายตําแหน่ง UNAIDS Goodwill Ambassador for HIV Prevention for Asia-Pacific ณ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา โดยฉายภาพให้เห็นว่าประเทศไทยเริ่มนำเพร็พ (การจัดบริการยาป้องกันการสัมผัสเชื้อเอชไอวี) เข้าสู่แนวทางการดูแลป้องกันและรักษาเอชไอวีตั้งแต่ 5 ปีก่อน จนปัจจุบันสามารถทำให้มีผู้ได้รับเพร็พ 7,260 ราย และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะนำร่องอีก 2,000 ราย ขณะที่กลุ่มเป้าหมายที่ควรได้รับเพร็พมีถึง 143,098 รายถึงจะสร้าง Impact ในการควบคุมโรคได้ เท่ากับว่าตัวเลขปัจจุบันยังเป็นเพียง 5% ของเป้าหมาย
“คิดภาพง่าย ๆ เหมือนวัคซีน ถ้ามีคนฉีดวัคซีนแค่ 5% ของประเทศก็ไม่สามารถยุติปัญหาของโรคได้ เช่นเดียวกับเพร็พ ถ้าไม่สามารถทำให้เกิด Herd Immunity ได้ ก็จะไม่สามารถเห็น Impact ในการป้องกันเอชไอวีได้” พญ.นิตยา กล่าว
พญ.นิตยา กล่าวต่อไปว่า แนวทางการให้เพร็พในปัจจุบันมี 3 รูปแบบคือ 1.การให้เพร็พแบบที่ผู้รับบริการจ่ายเงินซื้อเอง ปัจจุบันจัดบริการในคลินิกนิรนาม โดยมีสัดส่วนประมาณ 26% ของผู้รับเพร็พทั้งหมด 2.โครงการเพร็พพระองค์โสมฯ มีรูปแบบการให้บริการผ่านองค์กรชุมชน ปัจจุบันมีสัดส่วน 55%
พญ.นิตยา กล่าวว่า หัวใจสำคัญของรูปแบบนี้คือองค์กรชุมชนเป็นผู้ออกแบบบริการด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นบริการที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่การประกาศโดยตรงว่าเป็นการตรวจเอชไอวี เช่น ต้องการให้สาวประเภท 2 เข้ามาตรวจ ถ้าหากบอกให้มาตรวจกันตรง ๆ จะไม่มีใครเข้ามาเพราะเหมือนเป็นการตีตรา ดังนั้นจึงต้องมีการออกแบบบริการที่สาวประเภท 2 ต้องการและหาไม่ได้จากที่อื่นจึงจะสามารถดึงดูดให้เข้ามาตรวจได้ อาทิ การให้ฮอร์โมน การฉีดโบท็อกซ์ แล้วเมื่อกลุ่มเป้าหมายเข้ามารับบริการจึงค่อยเสนอบริการตรวจเอชไอวีไปด้วยเป็นต้น ซึ่งรูปแบบนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากในการหากลุ่มเป้าหมายและตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้
“ในช่วงปีที่ผ่านมากรมควบคุมโรคทำงานร่วมกับสภากาชาดไทยในการนำเรื่องการให้ชุมชนเป็นผู้ออกแบบการบริการด้วยตัวเอง มีการออกระเบียบว่าด้วยการให้บุคคลสามารถประกอบวิชาชีพเวชกรรมภายใต้การดูแลของผู้ประกอบวิชาชีพได้ ซึ่งจะนำไปสู่การจัดสรรเงินงบประมาณจาก สปสช.แก่องค์กรชุมชนในการดำเนินการได้โดยตรง”พญ.นิตยา กล่าว
ส่วนรูปแบบที่ 3.การให้เพร็พโดยหน่วยบริการภาครัฐ มีสัดส่วน 19% ของผู้รับเพร็บทั้งหมด รูปแบบนี้ยังมีข้อจำกัดในด้านเวลา เพราะหลายโรงพยาบาลยังคงผูกเรื่องการให้เพร็บเข้ากับแพทย์ จะต้องพบแพทย์ มีใบสั่งยาจากแพทย์ ทำให้หลายๆแห่งไม่สามารถให้เพร็บภายในวันนั้นได้ จุดนี้เป็นจุดสำคัญเพราะถ้าจะขยายเพร็บให้ได้เป็นแสนๆคนจะมองข้ามจุดนี้ไม่ได้ และคงต้องช่วยกันคิดต่อว่าจะปรับปรุงได้อย่างไร
“สถานการณ์ตอนนี้มาถึงช่วงที่มีการรวบรวมข้อมูลจากรูปแบบต่างๆ และสามารถผลักดันเข้าไปสู่ สปสช.เพื่อนำร่องได้ 2,000 ราย ใน 51 หน่วยบริการ 21 จังหวัด ในจำนวน 2,000 ราย จะมี 850 รายที่ให้บริการผ่านองค์กรชุมชน 9 องค์กรใน 6 จังหวัด และอีก 1,150 รายให้บริการผ่านโรงพยาบาล 43 โรงพยาบาลกับ 2 ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม.” พญ.นิตยา กล่าว
พญ.นิตยา ยังตั้งข้อสังเกตอีก 2-3 ประเด็นว่า ในการนำร่อง 2,000 รายนี้มีหลายประเด็นที่น่าจะดูให้ชัดเจน ส่วนตัวอยากเสนอว่าบางจังหวัดที่มีโควต้า 100 รายแล้วกระจายให้ 6 โรงพยาบาลภายในจังหวัด จริงๆแล้วทางจังหวัดน่าจะคุยกันและพิสูจน์โมเดลให้เห็นสัก 1 โมเดลที่เหมาะสมที่สุดว่าควรเป็นรูปแบบใด อาจจะเป็นการให้บริการโดยองค์กรชุมชน การให้บริการโดยโรงพยาบาล หรือแบบผสมโดยให้องค์กรชุมชนคัดกรองส่งต่อโรงพยาบาล เป็นต้น
พญ.นิตยา กล่าวถึงข้อสังเกตต่อมาว่า ประเทศไทยกำลังตกหลุมกับดักที่สร้างกันมาเองหรือไม่ว่าต้อง Target กลุ่มเป้าหมาย ต้องให้เพร็พกับคนที่มีความเสี่ยงสูงจริงๆ ซึ่งคนกลุ่มดังกล่าวอาจจะไม่ยอมรับว่าตัวเองมีความเสี่ยงสูง ดังนั้นอาจต้องมองภาพของเพร็พใหม่ว่าจะทำให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพได้อย่างไร
“ตรงนี้สำคัญ เพราะถ้าบอกว่าเพร็พมีสำหรับคนที่มีความเสี่ยง ใช้เพื่อลดความเสี่ยง มันจะเข้าถึงคนจำนวนน้อย มีคนน้อยมากที่ยอมรับว่าตัวเองมีความเสี่ยง แต่ถ้าบอกว่าเพร็พเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเสริมสุขภาพ กลุ่มเป้าหมายก็จะกว้างขึ้นไป และภาพของเพร็พก็จะเป็นความภูมิใจของผู้ใช้เพราะใช้แล้วรู้สึกว่าเป็นคนที่ดูแลสุขภาพ มากกว่าเป็นสิ่งที่อับอายหากต้องใช้เพราะเท่ากับยอมรับว่าตัวเองเป็นกลุ่มเสี่ยง”พญ.นิตยา กล่าว
พญ.นิตยา กล่าวทิ้งท้ายว่า การดำเนินการเรื่องเพร็พยังทำให้เกิดคำถามว่าถุงยางอนามัยว่าจะลดความสำคัญลงหรือไม่ ถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะทำให้ สปสช.เพิ่มความสำคัญกับเรื่องการรณรงค์เรื่องถึงยางอนามัย โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ช่องทางการการกระจายถุงยาง การกระจายบริการ ฯลฯ ควบคู่กับการให้บริการเพร็พไปพร้อมกัน
ที่มา : https://www.hfocus.org/content/2019/12/18133